สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ

Item

ชื่อเรื่อง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ

วันที่

2566-02-27

รายละเอียด

ผู้สร้างวัดพิชัยญาติการาม , ผู้ขุดคลองบ้านสมเด็จ
"สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ " หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย"
เกิดสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ในปีกุน พ.ศ. ๒๓๓๔ เป็นผู้สืบเชื้อสาย คนสำคัญของท่านเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับ ท่านผู้หญิงนวล มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น ๑๐ คน พี่ชายคนสำคัญท่านหนึ่งก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ท่านได้เริ่มเข้า รับราชการครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑ ในตำแหน่งนายสนิทมหาดเล็กหุ้มแพร ต่อมาเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้ย้ายเข้าไปรับราชการ สังกัดกรมพระราชวังบวร (วังหน้า)เป็นหลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก แล้วเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถหัวหมื่น มหาดเล็กในพระราชวังบวร จนเมื่อกรมพระราชวังบรสวรรคตแล้ว จึงกลับเข้ามารับราชการกับพระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก
ครั้นเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา จางวางกรมพระคลัง
สินค้า จนถึงปลายรัชกาลจึงเลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ผู้สำเร็จราชการในพระนคร เมื่อวันอังคารเดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ พ.ศ ๒๓๙๔ จารึกนามตามสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ นรเนตรนาถ ราชสุริยวงศ สกลพงศประดิษฐา มุขมาตยธิบดี ไตรสรณศรีรัตนธาดา สกลมหารัชชาธิเบนทร ปรเมนทรมหาราชวโร ประการ มโหฬารเดชานุภาพบพิตร" ถือศักดินา ๓๐,๐๐๐ จารึกในแผ่นทองคำเนื้อแปด พระราชทานกลด
เสลี่ยงงา พระแสงลงยาราชาวดี เป็นเครื่องยศต่างพระองค์เจ้าต่างกรม ถือดวงตราจันทรมณฑลเทพบุตรชักรถ ให้สำเร็จราชการในพระนครทุกสิ่งทุกพนักงาน (คงว่าพระคลังสินค้าด้วย)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเป็นขุนนางสำคัญในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้รับพระราชทาน
บรรดาศักดิ์เป็นที่สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์สำหรับขุนนางที่ตั้งขึ้นใหม่ มีฐานะสูงมากเทียบเท่าตำแหน่งพระองค์เจ้าซึ่งทรงกรม ในสมัยรัตนโกสินทร์ปรากฎหลักฐานตั้งบรรดาศักดิ์เช่นนี้ให้กับขุนนางเพียง ๓ ท่านเท่านั้นคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค), สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) และ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ได้ช่วยกำกับดูแลกิจการงานราชการต่าง ๆ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๔ มาโดยตลอด สรุปได้พอสังเขปดังนี้

ด้านราชการสงคราม
ท่านเป็นแม่ทัพลงไปปราบกบฏที่เมืองไทรบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๑ ขณะยังดำรงตำแหน่งพระยาศรี
พิพัฒน์รัตนราชโกษา ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ในครั้งนั้นท่านได้ใช้เมืองสงขลาเป็นฐานบัญชาการรบ เมื่อจัดการ งานต่าง ๆ ในหัวเมืองทางใต้เรียบร้อยแล้ว ท่านจึงได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นบนยอดเขาเมืองสงขลาเคียงคู่กับพระเจดีย์ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เคยสร้างไว้ก่อนคราวปราบกบฎเมืองตานี

ด้านการต่างประเทศ
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๓ มีทูตอเมริกันชื่อ โยเซฟ บาเลศเตีย ถือหนังสือของประธานาธิบดีอเมริกันเข้ามา
ขอแก้สัญญาซึ่งเอ็ดมันส์ โรเบิร์ตเคยทำไว้แต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ท่านเป็นผู้ออกรับทูตแทนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์พี่ชาย ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้อยู่ในคณะ พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมประชุมทำหนังสือสัญญากับ เชอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ราชทูตอังกฤษที่พระราชวังเดิม (สนธิสัญญาเบาว์รึ่ง) ถึงปี พ.ศ.๒๓๙๙ ท่านก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ร่วมกับคณะเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ในการทำสนธิสัญญากับ ทูตอเมริกันและทูตฝรั่งเศสตามลำดับ

ด้านการก่อสร้าง
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในงานช่างและการก่อสร้างเป็น
อย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าในชีวประวัติของท่าน ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่กองควบคุมการก่อสร้างสถานที่ สำคัญต่าง ๆ ในช่วงสมัยของรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ อยู่เสมอ อาทิเช่น เป็นแม่กองควบคุมดูแลการซ่อมแซม พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีส่วนในการสร้างพระปรางค์ภูเขาทอง วัดสระเกศ สร้างวัดปทุมวนาราม สร้างพระภิเนาว์นิเวศน์ และพระที่นั่งไชยชุมพล ซ่อมพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ในพระบรมมหาราชวัง ควบคุมการก่อสร้าง วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่าวัดพระโตเสาชิงช้า ต่อจากสมัยรัชกาลที่ ๑ ให้แล้วเสร็จ ที่สำคัญท่านยังได้บูรณปฏิสัขรณ์วัดร้างใกล้บ้านของท่าน และน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง คือ วัดพิชยญาติการาม ซึ่งได้รับการยกย่อง ว่าเป็นพระอารามที่มีความงดงามมาก ทั้งการวางผังจัดบริเวณและศิลปะการตกแต่ง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ย่าน
คลองสานแถบคลองบ้านสมเด็จ ท่านเป็นผู้ขุดคลองบ้านสมเด็จ เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองสาน ในคราวที่สร้างวัดพิชยญาติการาม นอกจากนี้ท่านยังสนใจในการต่อเรือ ได้สร้างอู่ต่อเรืออยู่บริเวณริมคลองสานหน้าวัดอนงคาราม และยังเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่นำความเจริญและพัฒนาการด้านต่าง ๆ เข้ามาสู่พื้นที่ย่านคลองสานในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างมากมาย

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติมีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๓๘ คน ภริยาของท่านก็คือ ท่านผู้หญิงน้อย
(สืบเชื้อสายสกุลชูโต) ท่านถึงแก่พิราลัย ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๐ ขณะออกไปตรวจงานที่อู่เรือหน้าวัดอนงคาราม สิริอายุได้ ๖๖ ปี และได้รับพระราชทานเพลิงที่เมรุหน้าวัดพิชยญาติการาม ซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์ไว้

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้ถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ก็เป็นผู้ดำรงวงศ์ตระกูล "บุนนาค" สืบต่อมากับบุตรชายท่านอื่น ๆ อีกหลายคน

ที่มา : สำนักงานเขตคลองสาน. (๒๕๕๔).สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ. ใน สมโภช ๑๐๐ ปี เขตคลองสาน. (น. ๑๒๑- ๑๒๓). ม.ป.พ.

รูปแบบ

application/pdf

ภาษา

tha

สำนักพิมพ์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ

หัวเรื่อง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค)
บุคคลสำคัญ

คอลเลกชั่น

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ, คลังข้อมูลดิจิทัล สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ, accessed December 5, 2024, https://455744.minerockhongkong.tech/s/library/item/2634

นำออกข้อมูล :